ฮาเกียโซเฟีย (อังกฤษ: Hagia Sophia; กรีกคอยนี: Ἁγία Σοφία, อักษรโรมัน: Hagía Sophía) หรือ อายาโซฟยา (ตุรกี: Ayasofya) แปลว่า "พระปรีชาญาณศักดิ์สิทธิ์" (Holy Wisdom; ละติน: Sancta Sofia) ชื่ออย่างเป็นทางการว่า มัสยิดใหญ่อายาโซฟยาอันศักดิ์สิทธิ์ (ตุรกี: Ayasofya-i Kebir Camii Şerifi) และในอดีตมีชื่อว่า คริสตจักรฮาเกียโซเฟีย (ตุรกี: Ayasofya Kilisesi; กรีก: Ναός της Αγίας του Θεού Σοφίας, อักษรโรมัน: Naós tis Ayías tou Theoú Sofías; ละติน: Ecclesia Sanctae Sophiae) เป็นศาสนสถานจากปลายสมัยโบราณ ตั้งอยู่ในอิสตันบูล ผู้ออกแบบ คือ อีซีดอร์แห่งไมลิทัส และแอนทิเมียสแห่งทรัลเลส ชาวกรีกทั้งคู่ โดยสร้างใน ค.ศ. 537 เพื่อเป็นอาสนวิหารปร...อ่านต่อ

ฮาเกียโซเฟีย (อังกฤษ: Hagia Sophia; กรีกคอยนี: Ἁγία Σοφία, อักษรโรมัน: Hagía Sophía) หรือ อายาโซฟยา (ตุรกี: Ayasofya) แปลว่า "พระปรีชาญาณศักดิ์สิทธิ์" (Holy Wisdom; ละติน: Sancta Sofia) ชื่ออย่างเป็นทางการว่า มัสยิดใหญ่อายาโซฟยาอันศักดิ์สิทธิ์ (ตุรกี: Ayasofya-i Kebir Camii Şerifi) และในอดีตมีชื่อว่า คริสตจักรฮาเกียโซเฟีย (ตุรกี: Ayasofya Kilisesi; กรีก: Ναός της Αγίας του Θεού Σοφίας, อักษรโรมัน: Naós tis Ayías tou Theoú Sofías; ละติน: Ecclesia Sanctae Sophiae) เป็นศาสนสถานจากปลายสมัยโบราณ ตั้งอยู่ในอิสตันบูล ผู้ออกแบบ คือ อีซีดอร์แห่งไมลิทัส และแอนทิเมียสแห่งทรัลเลส ชาวกรีกทั้งคู่ โดยสร้างใน ค.ศ. 537 เพื่อเป็นอาสนวิหารประจำเขตอัครบิดรคอนสแตนติโนเปิล นับเป็นโบสถ์คริสต์ที่ใหญ่ที่สุดของจักรวรรดิโรมันตะวันออกและศาสนจักรอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ ยกเว้นในสมัยจักรวรรดิละตินช่วง ค.ศ. 1204–1261 ซึ่งศาสนถานนี้กลายเป็นอาสนวิหารคริสตจักรละตินประจำนครแทน ต่อมาใน ค.ศ. 1453 หลังจากที่เสียคอนสแตนติโนเปิลให้แก่จักรวรรดิออตโตมัน ศาสนสถานนี้ก็ได้รับการแปรเปลี่ยนเป็นมัสยิด ใน ค.ศ. 1935 สาธารณรัฐเติร์กซึ่งเป็นกลางทางศาสนาได้จัดศาสนสถานนี้เป็นพิพิธภัณฑ์แทน (ตุรกี: Ayasofya Müzesi) กระทั่งใน ค.ศ. 2020 จึงมีการเปิดศาสนสถานนี้เป็นมัสยิดอีกครั้ง

ช่วง ค.ศ. 532–537 จักรพรรดิยุสตินิอานุสที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันตะวันออก ทรงสถาปนาศาสนสถานนี้ขึ้นเป็นอาสนวิหารประจำกรุงคอนสแตนติโนเปิลสำหรับคริสตจักรประจำชาติจักรวรรดิโรมัน ยุคนั้น สถานที่แห่งนี้เป็นอาคารโถงที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในอาคารแรก ๆ ที่ใช้โดมชนิดสามเหลี่ยมโค้งอย่างเต็มรูปแบบ ถือกันว่า เป็นตัวแทนของสถาปัตยกรรมไบแซนไทน์ทีเดียว นอกจากนี้ ยังกล่าวกันว่า เป็นจุด "เปลี่ยนประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม" ด้วย แต่อาคารดั้งเดิมดังกล่าวถูกทำลายไปในระหว่างการจลาจลนิกา ส่วนอาคารที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นแบบจัสติเนียนนั้น เกิดจากการบูรณะในครั้งที่สาม ศาสนสถานแห่งนี้ใช้เป็นสำนักของอัครบิดรแห่งคอนสแตนติโนเปิล และดำรงสถานะเป็นอาสนวิหารที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาเกือบ 1,000 ปี จนกระทั่งถูกแทนที่ด้วยอาสนวิหารเซอวิลซึ่งสร้างแล้วเสร็จใน ค.ศ. 1520 เริ่มแรกฮาเกียโซเฟียใช้สถาปัตยกรรมไบแซนไทน์แบบสมัยหลัง และได้ชื่อว่าเป็นแบบฉบับของโบสถ์ออร์ทอดอกซ์ อันเป็นรูปแบบที่มัสยิดออตโตมันพยายามจำลองมาใช้ในอีก 1,000 ปีให้หลัง นอกจากนี้ ศาสนสถานแห่งนี้ยังได้รับการพรรณาว่า "มีสถานะพิเศษในโลกคริสเตียน" ทั้งเป็นต้นแบบทางสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมแห่งอารยธรรมไบแซนไทน์และอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์

ศาสนสถานแห่งนี้อุทิศถวายแด่ "พระปรีชาญาณศักดิ์สิทธิ์" ซึ่งก็คือ พระวจนะ อันนับเป็นพระบุคคลลำดับที่สองในตรีเอกภาพ มีเทศกาลประจำปีทุก ๆ วันที่ 25 ธันวาคม (คริสต์มาส) เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่พระวจนะทรงรับเป็นมนุษย์ คำว่า "โซเฟีย" ในชื่อของสถานที่นั้น มาจากภาษากรีก แปลว่า "ปรีชาญาณ" และบางทีก็ได้รับการขนานนามว่า "เซนต์โซเฟีย" แต่มิได้เกี่ยวข้องกับนักบุญโซเฟียแห่งซอร์ติโนผู้ได้รับยกย่องเป็นมรณสักขี และในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของศาสนจักรอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์มาเกือบ 1,000 ปี ศาสนสถานนี้ได้ผ่านเหตุการณ์สำคัญมากมาย ซึ่งรวมถึงการที่นักบวชฮัมเบิร์ตแห่งซิลวากันดิดาประกาศขับอัครบิดรไมคิลที่ 1 คีรูลาเรียสจากศาสนจักรใน ค.ศ. 1054 ตามรับสั่งของสันตะปาปาลีโอที่ 9 อันถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของศาสนเภทครั้งใหญ่ ต่อมาใน ค.ศ. 1204 กองทัพครูเสดชุดที่ 4 ปรับเปลี่ยนสถานที่แห่งนี้จากศาสนสถานของอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์เป็นศาสนสถานของละตินแคทอลิกในความปกครองของจักรวรรดิละติน กระทั่งจักรวรรดิไบแซนไทน์หวนคืนสู่อำนาจใน ค.ศ. 1261 จึงได้รับการปรับคืนเป็นสถานที่ของอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ และร่างไร้วิญญาณของเอ็นริโก ดันโดโล ผู้เป็นดอเจแห่งเวนิสและเป็นผู้นำสงครามครูเสดครั้งนั้น ยังฝังไว้ภายในศาสนสถานแห่งนี้

เมื่อกรุงคอนสแตนติโนเปิลตกสู่เงื้อมมือของจักรวรรดิออตโตมันใน ค.ศ. 1453 สุลต่านเมห์เหม็ดผู้พิชิตทรงให้แปรเปลี่ยนศาสนสถานนี้เป็นมัสยิด ส่วนสำนักอัครบิดรก็ย้ายไปอยู่ที่โบสถ์อัครทูตซึ่งได้กลายเป็นอาสนวิหารประจำพระนครแทน และแม้หลายหลายภาคส่วนของคอนสแตนติโนเปิลจะทรุดโทรมลง แต่ศาสนสถานแห่งนี้ได้รับการซ่อมบำรุงอยู่เสมอด้วยกองทุนที่ตั้งขึ้นเพื่อการนั้นโดยเฉพาะ และบรรดาประมุขคนใหม่ ๆ แห่งออตโตมัน ก็มีความประทับใจอย่างยิ่งในคริสต์ศาสนาแห่งนี้ แม้จะเป็นผู้ก่อให้เกิดการแปลงสถานที่นั้นเป็นมัสยิดก็ตาม อย่างไรก็ดี ในการแปลงเปลี่ยนสถานที่นั้น มีการโยกย้ายระฆัง แท่นบูชา ฉากรูปบูชา แท่นเทศนา และหอล้างบาป ทั้งมีการทำลายพระสารีริกธาตุ ส่วนโมเสกที่เป็นภาพพระเยซู พระแม่มารี นักบุญในศาสนาคริสต์ และเทวทูตต่าง ๆ ที่สุดแล้วก็ถูกทำลายหรือป้ายปูนทับ ไม่เท่านั้น ยังมีการเพิ่มเติมลักษณะทางสถาปัตยกรรมอิสลามเข้าไป เช่น แท่นมิมบัร หอมินาเรต และซุ้มมิฮ์รอบ นับตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกของการแปลงสถานที่ให้เป็นมัสยิด ไปจนถึงค.ศ. 1616 ที่มีการสร้างมัสยิดสุลต่านอาห์เมดขึ้นอยู่ข้างเคียง สถานที่นี้มีสถานะเป็นมัสยิดกลางประจำอิสตันบูล และสถาปัตยกรรมไบแซนไทน์ก็ยังเป็นแรงบันดาลใจให้แก่อาคารทางศาสนาหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงมัสยิดสุลต่านอาห์เมดนั้นเองด้วย

สถานที่แห่งนี้เป็นมัสยิดจนถึง ค.ศ. 1931 แล้วปิดมิให้สาธารณชนเข้าเป็นเวลาสี่ปี ก่อนกลับมาเปิดใหม่ใน ค.ศ. 1935 ในฐานะพิพิธภัณฑ์ ตามคำสั่งของสาธารณรัฐตุรกี กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของตุรกีเปิดเผยว่า สถานที่แห่งนี้เป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวซึ่งมีผู้เข้าเยี่ยมชมมากที่สุดใน ค.ศ. 2015 และ 2019

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2020 สภาแห่งรัฐของตุรกียกเลิกมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อ ค.ศ. 1934 ที่ให้จัดแต่งสถานที่นี้เป็นพิพิธภัณฑ์ และประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน สั่งให้จัดสถานที่นี้กลับคืนเป็นมัสยิด การกระทำดังกล่าวเป็นที่ประณามของพรรคฝ่ายค้านตุรกี ผู้นำนานาชาติหลายคน ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศ เช่น ยูเนสโก สภาโบสถ์โลก และสมาคมศึกษาไบแซนไทน์ระหว่างประเทศ

Photographies by:
Benh LIEU SONG from Torcy, France - CC BY-SA 2.0
-
Photographer: Myrabella - Public domain
Akurilo - CC BY-SA 4.0
Orjen - CC BY-SA 4.0
Statistics: Position
127
Statistics: Rank
383708

แสดงความเห็น

Esta pregunta es para comprobar si usted es un visitante humano y prevenir envíos de spam automatizado.

Security
546971832Click/tap this sequence: 3861

Google street view

Where can you sleep near ฮาเกียโซเฟีย ?

Booking.com
489.233 visits in total, 9.196 Points of interest, 404 Destinations, 60 visits today.