简化字 ( อักษรจีนตัวย่อ )

อักษรจีนตัวย่อ (จีนตัวย่อ: 简体字/简化字; จีนตัวเต็ม: 簡體字/簡化字; พินอิน: jiǎntǐzì/jiǎnhuàzì เจี่ยนถี่จื้อ/เจี่ยนฮั่วจื้อ) เป็นหนึ่งในสองรูปแบบอักษรจีนมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลกในปัจจุบัน อักษรจีนตัวย่อประดิษฐ์และเริ่มใช้โดยรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนของสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีนแผ่นดินใหญ่) ใน พ.ศ. 2492 เหตุที่ต้องเรียกว่าอักษรจีนตัวย่อ หรือ Simplified Chinese character ก็เพื่อให้แตกต่างจากอักษรจีนมาตรฐานอีกรูปแบบหนึ่งที่ในปัจจุบัน นั่นคือ อักษรจีนตัวเต็ม หรือ Traditional Chinese Character (อักษรจีนดั้งเดิม)

อักษรจีนตัวย่ออาจถูกเรียกโดยชื่ออย่างเป็นทางการว่า (简体字;  เจี่ยนถี่จื้อ) หมายถึงการทำให้เข้าใจง่ายของตัวอักษร "โครงสร้าง" หรือ "รูปร่าง" เนื่องจากอักษรจีนตัวเต็มมีรูปแบบตัวอักษรแบบดั้งเดิมและโบราณ ที่มีอยู่เป็นนับพันปีมีความยุ่งยากและซับซ้อนในการเขียนมาก ในทางตรงกันข้ามอักษรจีนตัวย่อชื่ออย่างเป็นทางการหมายถึง ชุดอักขระที่เรียบง่ายทันสมัยอย่างเป็นระบบซึ่ง (ตามที่ระบุไว้โดยประธานเหมา เจ๋อตงในปี ค.ศ. 1952) ไม่เพียงแต่รวมถึงการลดความซับซ้อนของโครงสร้าง แต่ยังลดจำนวนตัวอักษรจีนให้ได้มาตรฐานอีกด้วย

ในปัจจุบันอักษรจีนตัวเต็มได้ใช้อย่างเป็นทางการในสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ที่ยังคงอนุรักษ์รูปแบบการเขียนดั้งเดิมของอักษรจีนตัวเต็มไว้เป็นอักษรทางการ นอกจากนี้อักษรจีนตัวเต็มยังใช้ใน ฮ่องกง มาเก๊า และชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลบางชุมชนที่เริ่มตั้งชุมชนก่อนการใช้อักษรจีนตัวย่ออย่างแพร่หลาย

ส่วนอักษรจีนตัวย่อใช้กันใน สาธารณรัฐประชาชนจีน (จีนแผ่นดินใหญ่) สิงคโปร์ และชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลบางชุมชนที่เริ่มตั้งชุมชนหลังการใช้อักษรจีนตัวย่ออย่างแพร่หลาย

อย่างไรก็ตาม ชาวไทยเชื้อสายจีนส่วนมากยังคงใช้อักษรจีนตัวเต็มเป็นหลัก แต่สำหรับการสอนภาษาจีนตามสถานศึกษาในประเทศไทยส่วนมากจะใช้อักษรจีนตัวย่อ เพื่อให้เป็นแบบแผนเดียวกันกับสาธารณรัฐประชาชนจีน